'กัดติดวิญญาณ' ซ้ำๆ 'หมาเพชฌฆาต' เขี้ยวโหด 'ต้องโทษคน'
views :  1548
image issue
หวนกลับมาเป็น ''ข่าวสยอง'' ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างเห็นได้ชัดอีกแล้วในช่วงนี้ สำหรับกรณี ''สุนัขดุขย้ำคนบาดเจ็บ-เสียชีวิต !!'' ซึ่งกรณีสะเทือนขวัญที่ไม่น่าจะเกิดแต่ก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ นี้ ผู้ตกเป็นเหยื่อคมเขี้ยวก็มีทั้งเด็ก ๆ คนชรา หรือแม้แต่คนร่างกายแข็งแรง ที่สำคัญ...หลาย ๆ กรณีที่เกิดขึ้นนั้นผู้ตกเป็นเหยื่อก็มิใช่คนแปลกหน้าที่ไหนเลย แต่เป็นคนในบ้านที่เลี้ยงสุนัข หรือแม้แต่คนที่เคยให้อาหาร-คนที่เป็นเจ้าของสุนัขเอง !!

บ้างถึงขั้นเสียชีวิต-บ้างก็เจ็บสาหัส...รายแล้วรายเล่า...

''สุนัขคือสัตว์เลี้ยงที่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์'' ''สุนัข เป็นสัตว์ที่ฉลาดและซื่อสัตย์ต่อเจ้าของมาก'' ...นี่เป็นตัวอย่างคำกล่าวถึง ''สุนัข'' หรือที่คนไทยทั่วไปเรียกกันง่าย ๆ ว่า ''หมา'' ที่ได้ยิน-ได้ฟังกัน มาแต่อดีต ก็แล้วเหตุไฉนยุคหลัง ๆ จึงเกิดกรณี ''สุนัขเขี้ยวโหด-หมาเพชฌฆาต'' ขึ้นบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ??

คำถามนี้คำตอบส่วนหนึ่งอาจอยู่ที่ตัวสุนัข

แต่คำตอบส่วนใหญ่น่าจะ ''อยู่ที่คนเลี้ยง''

ทั้งนี้ นอกจากสุนัขพันธุ์ต่างประเทศที่ได้ชื่อว่า ''ดุจัด'' เช่น พันธุ์รอตไวเลอร์, พันธุ์พิตบูลเทอร์เรีย, พันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี จะตกเป็น ข่าว ''เขี้ยวสยอง'' อยู่บ่อย ๆ แล้ว กับสุนัขพันธุ์ไทยบางพันธุ์ เช่น พันธุ์บางแก้ว หรือแม้แต่สุนัขพันทางที่ปกติก็ไม่ดุมาก ก็เคยมีข่าวทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ เช่นกัน...มิใช่แค่พันธุ์ต่างประเทศ
ดังนั้น หากจะระบุว่าสาเหตุเป็นเพราะพันธุ์สุนัข ก็อาจจะใช่...แต่ไม่ทั้งหมด และที่สำคัญ...จะเห็นได้ว่าสุนัขที่ก่อเหตุขย้ำคนจนบาดเจ็บร้ายแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนใหญ่มักจะเป็น ''สุนัขมีเจ้าของ'' ซึ่งเมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว ประเด็น ''การเลือกเลี้ยงสุนัข-การดูแลสุนัขที่เลี้ยง'' จึงถือว่ามีน้ำหนักมาก

มีน้ำหนักต่อกรณี ''สุนัขดุขย้ำคนบาดเจ็บ-เสียชีวิต''

และต่อคำถามที่ว่ากรณีแบบนี้สาเหตุคืออะไรแน่ ??

ที่ผ่านมาก็เคยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีผู้สันทัดกรณีเกี่ยวกับการเลี้ยงสุนัข ออกมาระบุว่า... การเลือกเลี้ยงสุนัขไม่เหมาะสม และ การเลี้ยงดูสุนัขอย่างไม่ถูกหลัก-ไม่ถูกวิธี เป็นสาเหตุสำคัญของ ''โศก นาฏกรรมคมเขี้ยวสุนัข'' แต่ทั้ง ๆ ที่มีการระบุชัด มีการเตือน ปัญหาก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ

การให้ความรู้ความเข้าใจ ไม่เพียงแค่การป้องกันปัญหา แต่รวมถึงวิธีจัดการกับปัญหาในช่วงที่เกิด มิใช่ไม่เคยมี ยกตัวอย่าง... ณัติวัฒน์ สินเหลือ ประธานชมรมรอตไวเลอร์ (ประเทศไทย) เคยให้ความรู้ความเข้าใจผ่าน ''เดลินิวส์'' ว่า... หากเกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้น วิธีจัดการคือ ไม่ควรจะใช้ไม้ตีหรือทำร้ายที่ตัวสุนัขตรง ๆ เพราะจะยิ่งทำให้สุนัขโมโหรุนแรงยิ่งขึ้น จนอาจส่งผลให้กัดหรือขย้ำเหยื่อรุนแรงมากกว่าเดิม

วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อถูกสุนัขพันธุ์ดุนี้กัดมีอยู่ 2 วิธีคือ วิธีแรก...ใช้การ ดึงโซ่หรือสายคล้องลากจูงที่ผูกอยู่บริเวณคอสุนัขแรง ๆ เพื่อที่สายโซ่หรือสายคล้องจะได้ไปกดทับกีดขวางระบบหายใจบริเวณลูกกระเดือกและหลอดลมของสุนัข เมื่อสุนัขหายใจไม่ออกก็จะอ้าปากปล่อยคมเขี้ยวเพื่อจะช่วยการหายใจ โดยวิธีนี้คนที่จะทำได้ต้องมีร่างกายที่แข็งแรงพอในการฉุด กระชาก หรือดึงโซ่ของสุนัข

อีกวิธี หากสุนัขตัวนั้นไม่มีสายโซ่หรือสายคล้องคอ หากมีสายยาง-ก๊อกน้ำอยู่ใกล้ ๆ ให้ ใช้สายยางฉีดน้ำอย่างรุนแรงไปยังบริเวณหน้าหรือจมูกของสุนัข เพื่อที่จะทำให้สุนัขเกิดการสำลักน้ำจนอ้าปากปล่อยคมเขี้ยวออกจากเหยื่อ แล้วคนที่เข้าช่วยก็รีบดึงร่างเหยื่อออกมาจากที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามาเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ถ้าจะป้องกันที่ต้นเหตุ ''คิดจะเลี้ยงสุนัขพันธุ์ดุ ต้องพิจารณาว่ามีเวลาในการฝึกหรือเอาใจใส่สุนัขอย่างเพียงพอหรือไม่ ? และต้องพิจารณาว่าร่างกายแข็งแรงพอที่จะสามารถควบคุมดูแลสุนัขพันธุ์ดุได้หรือไม่ ?'' มิฉะนั้นปัญหานี้ก็จะยังเกิด ซ้ำ ๆ ซาก ๆ

อย่างที่ ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีต ส.ว. ระบุผ่าน ''สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์'' ว่า... 1.เจ้าของสุนัขมักขาดความรับผิดชอบ และหาเหตุอ้างต่าง ๆ นานา เมื่อเกิดเหตุ 2.คนเลี้ยงบางคนเลี้ยงสุนัขหรือหมาแบบหมา ๆ ซึ่งอันตรายมาก และ 3.หน่วยงานภาครัฐยังไม่มีมาตรการป้องกันปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา เคยระดมความคิดเห็นเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อสรุปคือ... 1.จำแนกสุนัขพันธุ์ดุร้าย รัฐต้องพิจารณาจริงจังว่าสุนัขพันธุ์ใดเข้าข่ายดุร้าย เพื่อออกข้อกำหนดไม่ให้นำเข้า หรือมีไว้เพียงจำนวนน้อยเพื่อศึกษาวิจัยเท่านั้น, 2.ฝึกหัดสุนัขและผู้เลี้ยงสุนัข ผู้เลี้ยงต้องพาสุนัขเข้าฝึกอบรมตามตารางการฝึกมาตรฐาน และผู้เลี้ยงเองก็ต้องเข้าอบรมการเลี้ยงดูสุนัข และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะได้เลี้ยงเป็นและควบคุมดูแลสุนัขได้ดี 3.ปรับแก้กฎหมาย ต้องมีกฎหมายที่ครอบคลุมทั้งการจดทะเบียนสุนัขและเจ้าของ การทำประกันเพื่อให้มีเงินจ่ายแก่ผู้ถูกสุนัขกัด เอาโทษทางอาญาต่อผู้เลี้ยงสุนัขที่ไปกัดผู้อื่นนอกบ้าน การใส่ตะกร้อครอบปากสุนัขเมื่อพาไปในที่สาธารณะ

การจะป้องกันปัญหา ''สุนัขดุขย้ำคนบาดเจ็บ-เสียชีวิต'' มีการพูดถึงมานานแล้ว ปัญหานี้เกิดมาตั้งหลายปีดีดักแล้ว และครูหยุยก็พูดถึงเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2547 แล้ว ทว่า...จนปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างที่ทราบกัน

''หมาเพชฌฆาต'' ยังปรากฏเป็น ''ข่าวสยอง'' เป็นระยะ

แม้แต่คนเลี้ยงเองก็ตกเป็นเหยื่อ ''กัดติดวิญญาณ !!''.
ที่มา :  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ดู hotIssue ทั้งหมด
*** กรุณา Login ก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้นะจ๊ะ ***